ยุคคลาสสิก (320 ปีก่อน ค.ศ. - 550 ปีก่อน ค.ศ. ) ของ สถาปัตยกรรมอินเดีย

อนุสรณ์หินขนาดใหญ่

เสาแห่งอโศกที่สถูปสาญจี

ระลอกการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่นี้มาพร้อมกับจักรวรรดิเมารยะ ในปาฏลีบุตรเมืองหลวงของเมารยะซึ่งได้รับการกล่าวขานว่ามีขนาดมหึมาโดยทูตชาวกรีก Megasthenes อนุสรณ์สถานหินขนาดใหญ่โตเหล่านี้ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากเปอร์เซียยุคแรกและจากอารยธรรมกรีก

ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระองค์ได้มีพระราชกระแสให้ตั้งเสาแห่งอโศกขึ้นตามวัดพุทธต่าง ๆ และพระองค์ยังทรงสร้างสถูปอีกจำนวนราว 84.000 แห่ง ทั่วอินเดีย ภายในนั้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระองค์รับสั่งให้ขุดออกมาจากสถูปโบราณในสมัยพุทธองค์ซึ่งล้วนเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เป็นที่ยอมรับกันว่าสถูปต่าง ๆ นั้นเริ่มมีการสร้างขึ้นและวิวัฒนาการขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นมา เช่น สถูปสาญจี, เกสริยาสถูป ที่ล้วนพบเสาแห่งอโศกตั้งอยู่ด้วยทั้งสิ้น สถูปอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ว่าสร้างโดยพระองค์หรือได้รับอิทธิพลจากสถูปในรัชสมัยพระองค์ เช่น Bharhut, Amaravathi Mahachaitya และ ธรรมราชิกสถูป ในคันธาระ[6]

พระองค์ยังทรงสร้างวัดมหาโพธิ์หลังแรกที่พุทธคยาล้อมรอบต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งภายในประกอบไปด้วยผลงานชิ้นเอก เช่น วัชรอาสนะ (พระที่นั่งเพชร)[7] และพระองค์ยังทรงนิยมสร้างโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นทุกที่ที่พระองค์เสด็จไป[8] นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่ศิลปะอินเดียได้รับอิทธิพลมากและเฟื่องฟู

ในสมัยจักรวรรดิเมารยะ (321 - 185 ปีก่อน ค.ศ.) ได้สร้างบ้านเมืองที่ล้อมด้วยกำแพงเมือง และในเมืองเต็มไปด้วยสถูป วิหาร[9] ผลงานชิ้นสำคัญ เช่น ปาฏลีบุตร และเสาแห่งอโศก ซึ่งโดเด่นและยิ่งใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับอารยธรรมอื่น ๆ ในสมัยเดียวกันในส่วนอื่นของโลก ผลงานของเมารยะถือว่าโดดเด่นกว่าใคร จอห์น มาร์แชล (นักโบราณคดี) เคยถึงกับยอมรับว่า ผลงานของเมารยะนั้นถือว่าเอาชนะผลงานที่ดีที่สุดของพวกเอเธนส์ (กรีก) ในสมัยเดียวกันไปได้สบาย ๆ เลย[10][11]

ถ้ำเจาะหิน

ชัยตยา (Chaitya) หลักของถ้ำเกรลา (Karla Caves)

ในช่วงเวลาเดียวกันสถาปัตยกรรมการเจาะหินก็เริ่มต้นที่จะพัฒนา ถ้ำแรกที่มีการเจาะหินและแกะสลักเข้าไปคือ ถ้ำพรพาร (Barabar Caves) ในรัฐพิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระเจ้าอโศกมหาราช[9] การเจาะหินเข้าไปในเขาเพื่อสร้างถ้ำฝีมือมนุษย์นี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถออันเหนือชั้นในการเจาะหินแกรนิตซึ่งแข็งและยากที่จะเจาะ แต่สามารถเจาะออกมาเป็นรูปร่างและรูปทรงที่ถูกต้องตามหลักทางเรขาคณิต นอกจากนี้ยังขัดผิวหินเหล่านี้จนเงามันและสามารถสะท้อนเหมือนกระจกเงาได้[12]

เชื่อกันว่าหลังการล่มสลายของจักรวรรดิเมารยะประมาณ 200 ปีก่อน ค.ศ. รวมกับการกวาดล้างชาวพุทธของ Pushyamitra Sunga ชาวพุทธหนีภัยไปบริเวณเดคคาน ภายใต้การปกป้องของจักรวรรดิสาตวาหนะ ชาวพุทธได้นำเทคนิคการเจาะถ้ำนี้ไปยังบริเวณตะวันตกของอินเดียนี้ด้วย ถ้ำเจาะหินในยุคนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นและเกี่ยวพันกับศาสนาอย่างชัดเจน โดยมักสร้างเป็นศาสนสถานหรือประกอบพิธีกรรมของศาสนาพุทธและศาสนาเชน ถ้ำเจาะในยุคนี้ เช่น ถ้ำเกรลา (Karla Caves) และ ถ้ำปันทาวเลนี (Pandavleni Caves)[12] ถ้ำเหล่านี้มีแปลนการสร้างที่วางแผนมาอย่างดี พบว่าโดยทั่วไปจะสร้างสถูปด้านหลังห้องชัยตยา (Chaitya) เป็นทรง apsidal และห้องหับร้อมล้อมถ้ำเป็นวิหาร สร้างดวยแปลนทรงสี่เหลี่ยม[12] ถ้ำเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากเงินบริจาคจากพ่อค้า นักบวช พระ รัฐบาล หรือแม้แต่ Yavanas ชาวกรีก โดยบุคคลเหล่านี้จะได้รับการจารึกชื่อผู้บริจาคไว้ในถ้ำ คิดเป็นประมาณ 8% ของจารึกทั้งหมด[13]

การเจาะถ้ำนี้เริ่มเสื่อมถอยลงหลังราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 อาจด้วยเพราะศาสนาพุทธอีกนิกายคือ มหายาน กำลังเจริญรุ่งเรืองขึ้น และงานสร้างทั้งสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมในคันธาระและอมรวาตีที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ [12] ถ้ำเจาะหินเริ่มกลับมาอีกครั้งในราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 ตัวอย่างสำคัญคือ ถ้ำอชันตา[14] และ ถ้ำเอลโลรา จนเมื่อในที่สุดศาสนาฮินดูเข้ามาเป็นศาสนาหลักในอินเดีย ความนิยมในการสรางศาสนสถานแบบอาคารตั้งสูง (stand-alone) ก็เข้ามาแทนที่การสร้างเจาะหินเป็นถ้ำแทน[9][12]

สถาปัตยกรรมเจาะหินยังมาควบคู่กับการพัฒนาบ่อน้ำขั้นบันได (Stepwell) เช่นกัน ประมาณ ค.ศ. 200 - 400[15] ยาวจนถึง ค.ศ. 950 บ่อน้ำขั้นบันไดเริ่มมีการพัฒนาและวิจิตรขึ้นมาก[15]

สถูปที่ตกแต่งอย่างวิจิตร

ดูเพิ่มเติมที่: สถูป

สถูปต่าง ๆ เริ่มมีการตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยรูปสลักนูนต่ำ โดยมีครั้งแรกที่สถูปสาญจี หมายเลข 2 (125 BCE) การตกแต่งเชิงประติมากรรมและภาพสลักพุทธประวัติต่อมาเริ่มพบที่ Bharhut (115 BCE), พุทธคยา (60 BCE), มธุรา (125–60 BCE), อีกครั้งที่สาญจีซึ่งพบการตั้งเสาโตรณะขึ้นครั้งแรก[16] และที่อมรวารตีสถูป[17] ต่อมาสถูปเริ่มแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ เอเชียตะวันออก พร้อมกับการเข้ามาของศาสนาพุทธ[18] ซุ้มโตรณะนั้น นักวิชาการบางคนเชื่อว่าพัฒนาเป็นซุ้มโทริอิของญี่ปุ่นในปัจจุบัน[19][20]

วัดและโบสถ์พราหมณ์

วัดที่สร้างในสมัยนี้สามารถจำแนกเป็นรูปทรงต่าง ๆ ของอาคารวัดที่เหลืออยู่แบบตั้งเดี่ยว (stand alone) ได้แก่ รูปไข่ (elliptical), รูปกลม (circular), รูปสี่เหลี่ยม (quadrilateral), รูปสามเหลี่ยมกุด (truncated pyramidal) อย่างเช่นที่เจดีย์มหาโพธิ์ และทรงแอพไซดอล (apsiadal)

ใกล้เคียง

สถาปัตยกรรมบารอก สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ สถาปัตยกรรมอินเดีย สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ สถาปัตยกรรมกอทิก สถาปัตยกรรมแบบอิตาลี